วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับการเลือกซื้ออาหารแปรรูปอย่างฉลาด

เคล็ดลับการเลือกซื้ออาหารแปรรูปอย่างฉลาด

เพื่อให้ได้คุณค่าอาหารที่สมบูรณ์และปลอดภัยก่อนถึงมือคุณ

อาหารแปรรูป คือ อาหารที่ผ่านการแปรรูปโดยการตัดแต่ง การปรุงการถนอมด้วยวิธีต่างๆ และถูกบรรจุก่อนนำไปจำหน่าย หลักในการเลือกซื้อควรพิจารณาองค์ประกอบดังต่อไปนี้

ฉลากอาหาร เป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องรู้จักและทำความเข้าใจกับความหมายของข้อความที่ปรากฏบนฉลาก เพื่อช่วยในการเลือกซื้อ

ส่วนประกอบของอาหาร พลังงานและสารอาหาร จะแสดงในรูปของปริมาณและร้อยละ อาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพควรมีปริมาณไขมันรวมไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวันและมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าร้อยละ 10

นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องคอเลสเตอรอล ซึ่งร่างกายควรได้รับไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน น้ำตาลและเกลือก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ควรใส่ใจ การกินหวานหรือเค็มจัดมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ หลายโรค โดยควรได้รับน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมด และเกลือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน

สำหรับวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุก็ต้องให้ความสนใจโดยเฉพาะอาหารสด เช่น ผักผลไม้สด เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ปลา และอาหารที่ปรุงสำเร็จในแต่ละวัน ควรตรวจสอบวันที่ผลิตและวันหมดอายุที่แสดงไว้ แต่ควรใช้ก่อนวันที่กำหนดหมดอายุ เพื่อให้ได้คุณค่าอาหารที่สมบูรณ์และปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

เลขทะเบียน มอก. หรือ อย. เป็นหลักประกันในระดับหนึ่งว่าอาหารนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ บางครั้งสารต่างๆ ที่ใส่ในอาหาร เช่น สีผสมอาหาร สารกันบูด สารแต่งกลิ่น เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นควรอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเพื่อลดอันตรายจากการแพ้

ลักษณะบรรจุภัณฑ์ ต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่บุบหรือบวม ไม่มีรอยแตกร้าว เป็นสนิมหรือมีรูรั่ว ตัวอาหารต้องไม่มีสี กลิ่น และรสชาติที่ผิดไปจากเดิม หรือมีวัตถุอื่นที่ไม่ใช่สารประกอบในอาหารเจือปน

นี่คือเหตุผลของการเลือกซื้ออาหารอย่างชาญฉลาด เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารสด หรือแปรรูปต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งคุณค่าและปริมาณ เพื่อช่วยให้เราได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อาหารแปรรูปบางชนิดยังมีส่วนประกอบของไขมันและเกลือโซเดียม ซ่อนอยู่ในตัวอาหารในปริมาณสูงหรือสูงมาก โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบ เช่น ไส้กรอกหมู ไส้กรอกเนื้อ ไก่งวง เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ไส้กรอกเท่านั้นที่ไขมันสูง แต่แฮม หมูยอ กุนเชียง ไอศกรีม ขนมกรุบกรอบ เค้ก คุกกี้ ก็อาจมีคอเลสเตอรอล และเกลือโซเดียมในปริมาณสูงไม่แพ้กัน

โดยแท้จริงแล้ว คนในวัยทำงานผู้หญิงและผู้สูงอายุ ควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ไขมันไม่เกิน 53 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายวัยทำงานควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ไขมันไม่เกิน 66 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนคอเลสเตอรอลในวันหนึ่งควรได้รับไม่เกิน 300 มิลลิกรัม และเกลือโซเดียมไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น